ประวัติโรงเรียน
โรงเรียนหลังสวนเทศบาลอุปถัมภ์ เป็นโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญ
เนื้อที่ 8 ไร่ 2 งาน 66 ตารางวา
เขตพื้นที่บริการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต2
สังกัด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
เปิดสอนในระดับอนุบาล และประถมศึกษา ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ มีประวัติสังเขป ดังนี้
พ. ศ. 2501เปิดสอนครั้งแรก อาคารเรียนคือ อาคารสำนักงานเทศบาลตำบลหลังสวนหลังเก่า ซึ่งเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว 1หลัง ตั้งอยู่ที่ถนนเขาเงิน ตำบลหลังสวน อำเภอหลังสวน โดยนางสุภี ณ ระนอง เป็นเจ้าของและผู้จัดการ ได้ดำเนินการขออนุญาตจัดตั้งเป็นโรงเรียนราษฎร์ ได้รับใบอนุญาตเลขที่ 2/2501มีชื่อว่า “โรงเรียนอนุบาลหลังสวนเทศบาลอุปถัมภ์” เปิดสอนระดับอนุบาล ใช้หลักสูตรอนุบาลคินเดอร์กาเต้นของกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ 1ถึงชั้นอนุบาลปีที่ 2มีนางจิตรา พิมลศรี เป็นครูใหญ่คนแรก
พ.ศ. 2505นายแจ้ง วงศ์วิเศษ ได้รับโอนโรงเรียนจากนางสุภี ณ ระนอง เป็นเจ้าของโรงเรียนต่อไปตามใบอนุญาตเลขที่ 13/2505ลงวันที่ พฤษภาคม 2505ทั้งนี้เนื่องจากนางสุภี ณ ระนอง ย้ายถิ่นฐานไปอยู่กรุงเทพฯ
พ. ศ. 2507 นายแจ้ง วงศ์วิเศษ ได้ยื่นคำขอจัดตั้งโรงเรียนราษฎร์ประเภทโรงเรียนประถมศึกษาที่เรือนไม้ชั้นเดียว 2 หลัง ที่ถนนเขาเงิน ตำบลหลังสวน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น “โรงเรียนหลังสวนเทศบาลอุปถัมภ์” เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ 1ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4ตามใบอนุญาตเลขที่ 1/2507ลงวันที่ 17มิถุนายน 2507 ตามหลักสูตรคินเดอร์กาเต้นและหลักสูตรประถมศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ พุทธศักราช 2503และใบอนุญาตเลขที่ 92/2507 ลงวันที่ 18พฤษภาคม 2507อนุญาตให้โรงเรียนหลังสวนเทศบาลอุปถัมภ์ ใช้อักษรย่อชื่อโรงเรียน “ล.ท.”
พ.ศ. 2513 นายแจ้ง วงศ์วิเศษ ขอย้ายสถานที่ตั้งโรงเรียนตามใบอนุญาตเลขที่ 85/2513 ลงวันที่ 27 กรกฏาคม 2513 จากสถานที่ตั้งเดิม คือ เรือนไม้ชั้นเดียว 2หลัง ถนนเขาเงิน ตำบลหลังสวน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ไปตั้งที่อาคารเรียนหลังใหม่เป็นเรือนไม้ 2ชั้น 1หลัง กับอาคารเรียนตึกชั้นเดียว 1หลัง รวม 2หลัง ตั้งอยู่ที่ ถนนหลังสวน ตำบลหลังสวน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ตั้งแต่วันที่ 30มิถุนายน 2513 มีห้องเรียน 8ห้อง ห้องพักครูและห้องสมุด รวมกัน 1ห้อง โรงอาหาร1หลัง ห้องอนุบาล 1ห้อง และห้องน้ำห้องส้วม
พ.ศ. 2521 เปลี่ยนมาใช้หลักสูตรประถมศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ พุทธศักราช 2521สำหรับประถมศึกษา
พ.ศ. 2525 นายจารุวัสตร์ วงศ์วิเศษ ได้เข้ามาเป็นครูใหญ่และผู้จัดการ
พ.ศ. 2527 ได้สร้างอาคารเรียนเพิ่มอีก 5ห้องเรียน และได้ขออนุญาตเปลี่ยนระเบียบการของโรงเรียน
พ.ศ. 2528-2530 ได้สร้างอาคารเพิ่มอีก 5 ห้องเรียน
พ.ศ. 2531 ขอขยายชั้นเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 6ในปีถัดไป
พ.ศ. 2532ได้ทำหนังสือขอเช่าที่ดินของวัดโตนด 1ไร่1งาน /ตร.ว. ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโรงเรียนเพื่อทำสนามเด็กเล่น
พ.ศ. 2533 ได้ก่อสร้างอาคารเรียนเพิ่มอีก 5ห้องเรียน
พ.ศ. 2535 ได้ขออนุญาตให้โรงเรียนก่อสร้างอาคารเรียน หรือ สิ่งปลูกสร้างอื่นเท่าที่จำเป็น บนที่ดินส่วนที่เช่าของวัดโตนดได้
พ.ศ. 2536 นายเทพพงษ์ วงศ์วิเศษ ได้เข้ามาเป็นผู้รับใบอนุญาต (เจ้าของ) โดยได้รับโอนจากนายแจ้ง วงศ์วิเศษ ซึ่งชราภาพ นางจารุวรรณ เอกเกิด ได้เข้ามาเป็นผู้จัดการแทนนายจารุวัสตร์ วงศ์วิเศษ และนางมยุรี ทองยวน ได้เข้ามาเป็นครูใหญ่แทนนายจารุวัสตร์ วงศ์วิเศษ ในปีนี้ได้มีการสร้างอาคารเรียนเอนกประสงค์ 1หลัง ทำห้องเรียน กพอ. 1 ห้อง
พ.ศ. 2537 ได้จัดทำสนามเด็กเล่นบริเวณด้านหน้าโรงเรียน โดยจัดเป็นสนามคอนกรีต และทำสนามหน้าโรงเรียนขึ้นใหม่ โดยยกระดับให้ได้มาตรฐาน ทำทางเท้าปูตัวหนอนโดยรอบ ทำสนามทรายใช้เป็นที่ออกกำลังกายของนักเรียน ใช้เป็นที่ทำกิจกรรมอบรมนักเรียน รวมทั้งก่อสร้างศาลาที่พักผู้ปกครองบริเวณด้านหน้าโรงเรียนอีก 1หลัง
พ.ศ. 2538 ได้ขอเช่าที่ดินวัดโตนดเพิ่ม อีก 5ไร่เศษ ปรับปรุงเป็นสนามเด็กเล่น สนามฟุตบอล แปลงเพาะชำ แปลงเกษตร ปรับปรุงเป็นที่นั่งพักผ่อนทำกิจกรรมยามว่างใต้ต้นไม้ สร้างรั้วกำแพงโรงเรียนเพิ่มเติม อาคารอเนกประสงค์ 2ชั้น และนายพร้อม ศุภนิรันดร์ เข้ามารับตำแหน่งครูใหญ่แทนนางมยุรี ทองยวน
พ.ศ. 2539 นายเทพพงษ์ วงศ์วิเศษ เข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการแทนนางจารุวรรณ เอกเกิด
พ.ศ. 2540 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ เกิดพายุโซนร้อนซีต้า ทำให้เอกสารของโรงเรียนส่วนหนึ่งชำรุดบางส่วนก็สูญหาย ในปีนี้ได้เปิดสอนวิชาคอมพิวเตอร์ จัดเป็นห้องเรียนปรับอากาศ
พ.ศ. 2541โรงเรียนประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ นักเรียนลดลงประมาณ 50คน แต่ก็ไม่เป็นเหตุให้โรงเรียนเดือดร้อนแต่อย่างใด ได้ก่อสร้างแท็งก์น้ำขนาดใหญ่หลังโรงเรียนเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในยามฉุกเฉินโดยสูบน้ำจากแม่น้ำหลังสวนและ / หรือใช้เก็บน้ำฝน และปีนี้โรงเรียนได้เปลี่ยนแปลงระบบบริหารมาเป็นการบริหารแบบแผนงานมีการจัดทำธรรมนูญโรงเรียน เป็นแนวทางในการบริหารโรงเรียนเป็นต้นมา
พ.ศ. 2542ได้ดำเนินการพัฒนาโรงเรียนตามแผนในธรรมนูญโรงเรียน จัดเตรียมทำรายงานประเมินตนเอง ให้คณะกรรมการการศึกษาเอกชน ครบทั้ง 7ปัจจัยและทุกตัวชี้วัด
พ.ศ. 2543ได้ดำเนินการพัฒนาโรงเรียนทั้ง 7ปัจจัย และได้จัดทำรายงานการประเมินตนเองเป็นครั้งแรก ส่งคณะกรรมการการศึกษาเอกชน เมื่อวันที่ 26สิงหาคม 2543 จนกระทั่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน ได้ตอบรับที่จะมาประเมินคุณภาพภายในระดับกรม ในวันที่ 20-22มิถุนายน 2544
พ.ศ. 2544โรงเรียนได้รับการตรวจคุณภาพภายใน โดยคณะกรรมการการตรวจสอบคุณภาพโรงเรียนเอกชน และได้เสนอต่ออนุกรรมการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาเอกชน เป็นครั้งแรก เมื่อ 22 มิถุนายน 2544
พ.ศ. 2545นายเทพพงษ์ วงศ์วิเศษ เข้ามารับตำแหน่งครูใหญ่แทนนายพร้อม ศุภนิรันดร์
พ.ศ. 2552โรงเรียนได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษา จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านปฐมวัย และประถมศึกษา (ตั้งแต่ 28 มิถุนายน 2552)
พ.ศ. 2555 โรงเรียนได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาจากสำนักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน) รอบ 3 ระดับการศึกษาปฐมวัยและระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน