ประวัติ
วันที่ 13 ม.ค. 2568
โรงเรียนชุมชนวัดเขาไม้แก้ว |
โรงเรียนชุมชนวัดเขาไม้แก้ว ตั้งอยู่ หมู่ที่ 1 ( บ้านห้วยลึก ) ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบางละมุง สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดชลบุรี สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
ตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2479 เดิมใช้ศาลาการเปรียญของวัดเขาไม้แก้ว ขนาด กว้าง 8 เมตร ยาว 12 เมตร จุนักเรียนได้ประมาณ 200 คนเศษ เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ในปี พ.ศ. 2506 พระครูใบฎีกาชั้น (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) ได้ร่วมกับคณะครู กรรมการศึกษา และราษฎรในตำบล ร่วมกันสละทรัพย์เพื่อทำการปลูกสร้างเป็นอาคารเอกเทศขึ้น ในที่ดินของโรงเรียนโดยการจับจองของนายรุ่งศิริ (จี๊ด) คนแรง สร้างเป็นอาคารเรียนแบบ ป 1 ข ใต้ถุนเตี้ย ขนาด 7 × 27 เมตร มีมุขทางด้านทิศเหนือ ขนาด 6 × 6 เมตร ใช้งบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ 6,000 บาท , งบสภาจังหวัด 45,000 บาท และราษฎรร่วมกันบริจาค 45,000 บาท (รวมเป็นค่าก่อสร้าง 96,000 บาท) เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2507 แบ่งเป็น 3 ห้องเรียน จุนักเรียนได้ประมาณ 180 คน (ปัจจุบันอาคารหลังนี้ได้รับอนุญาตให้รื้อถอนไปแล้ว)
ในปี พ.ศ. 2527 ได้รับงบประมาณจากกรม สปช. สร้างอาคารเรียนแบบ สปช. 105/26 จำนวน 1 หลัง 4 ห้องเรียน เป็นเงิน 800,000 บาท พระครูรัตนาภินันท์ , คณะครู และคณะกรรมการศึกษา ได้ติดต่อขอเงินบริจาคจากมูลนิธิวัดสัตหีบได้อีก จำนวน 300,000 บาท สร้างต่อเติมชั้นล่างอีก 4 ห้องเรียน สร้างเสร็จในคราวเดียวกันรวมเป็น 8 ห้องเรียน รวมเป็นเงินค่าก่อสร้าง 1,100,000 บาท เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี โดยขออนุญาตใช้ชื่ออาคารหลังนี้ว่า “ อาคาร หลวงพ่ออี๋อนุสรณ์ “
ในปี พ.ศ. 2534 โรงเรียนได้เปิดขยายโอกาสทางการศึกษาเป็นแห่งแรกของอำเภอบางละมุง คือ เปิดสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ( ม.1 ) เป็นต้นมา
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2534 ท่าน ดร.ก่อ สวัสดิ์พานิชย์ รัฐมนตรีว่าการรกระทรวงศึกษาธิการและคณะ ได้มาตรวจเยี่ยมโรงเรียนขยายโอกาส ฯ ในพื้นที่อำเภอบางละมุง ซึ่งมีแห่งเดียว ได้หารือกับเจ้าอาวาสวัด คณะครู และคณะกรรมการศึกษา ในการสร้างอาคารหลังใหม่ โดยทางกระทรวงศึกษาธิการจะให้งบประมาณจำนวน 3 ล้านบาท และให้หาสมทบอีก 2 ล้านบาท ซึ่งท่านได้มาเป็นประธานวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2535 และต่อมาก็ได้งบประมาณดังกล่าว มาทำการก่อสร้าง เป็นอาคาร คสล. สองชั้น 12 ห้องเรียน โดยมีบริษัท โภคกิจก่อสร้างประมูลการก่อสร้างได้ เป็นเงิน 4,990,000 บาท สร้างแล้วเสร็จในเดือน กรกฎาคม 2536 และกระทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2537 ใช้ชื่ออาคารว่า “ อาคาร รัฐ – ก่อ – รัตนา ประชาร่วมใจ “ โดยนายโกวิท วรพิพัฒน์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีเปิด
ต่อมา ท่านพระครูรัตนาภินันท์ และคณะกรรมการศึกษา ได้ปรึกษาหารือกันมีคว ามเห็นว่า อาคารหลังแรกซึ่งก่อสร้างมานาน มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ประกอบกับสร้างอยู่ตรงกลางพื้นที่ของโรงเรียน ซึ่งถ้าปรับปรุงโดยรื้อถอนออกไป จะทำให้มีบริเวณสนามกว้างขวางสวยงาม จึงคิดที่จะสร้างอาคารขึ้นทดแทนใหม่ให้เป็นระเบียบ โดยนำไม้เครื่องบน และพื้น ซึ่งยังดีอยู่ มาใช้สร้างอาคารหลังนี้ และท่านได้เริ่มหางบประมาณ โดยขอบริจาคเป็นวัสดุสิ่งของ ได้แก่ หิน , ปูน , ทราย , กระเบื้อง และ เหล็ก ฯลฯ. ตั้งใจว่าจะทำการก่อสร้างไปเรื่อย ๆ โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ จึงได้จัดงานวางศิลาฤกษ์อาคารหลังนี้ขึ้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2536 ซึ่งตรงกับงานกฐินของวัด โดยเชิญข้าราชการ พ่อค้า คหบดี และประชาชน ร่วมบริจาค และนำเงินรายได้จากการทอดกฐิน,ผ้าป่า ของวัด เข้าสมทบ และให้ทางโรงเรียนขออนุญาตการรื้อถอนอาคารหลังเก่า นำไม้เครื่องบน , ไม้แป และพื้นมาทำการก่อสร้างเป็นอาคาร คสล. สองชั้น 6 ห้องเรียน โดยมี นายสมนึก สบายแท้ กองช่างของ สปช.เป็นวิศวกรออกแบบ และดำเนินการก่อสร้างมาเป็นลำดับ พร้อมทั้งปรับปรุงร่องน้ำ ก่อกำแพงด้านหลังอาคาร โดยพระครูรัตนาภินนท์ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง และเป็นหลักในการจัดหางบประมาณ ซึ่งได้ตั้งประมาณการไว้ว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 3,000,000 บาท (สามล้านบาท) และได้ประชุมคณะครู และ คณะกรรมการศึกษา และผู้ที่ร่วมบริจาค โดยตกลงจะขอใช้ชื่ออาคารหลังนี้ว่า “ อาคาร ชั้น – วิทยา ประชานุกูล “
การก่อสร้างได้ดำเนินการจนกระทั่งเสร็จเรียบร้อย และได้กระทำพิธีเปิดป้ายและฉลองอาคาร เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2539 โดยเรียนเชิญท่านผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานในการเปิด และใช้เป็นอาคารเรียนอนุบาล , ห้องธุรการ, ห้องพยาบาล ,ห้องแนะแนว , ห้องดนตรีไทย , ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ และห้องเรียนมัลติมีเดีย ฯลฯ.
ปีการศึกษาปัจจุบัน ( 2547 ) โรงเรียนเปิดทำการสอน 3 ระดับ คือ ระดับชั้นอนุบาล, ระดับชั้นประถมศึกษา และ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โดยเริ่มนำร่องการใช้หลักสูตรสถานศึกษา ในชั้น ประถมศึกษาปีที่ 1 , ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เมื่อปีการศึกษา 2545 นอกจากนี้ยังให้หน่วยงานพัฒนาชุมชน ใช้สถานที่เปิดเตรียมความพร้อมเด็กก่อนวัยเรียน ( อนุบาล 3 ขวบ ) อีกด้วย และในปีงบประมาณ 2547 นี้เอง ได้รับงบประมาณจาก อบจ.ชลบุรี สร้างอาคารเรียนแบบ 2/28 หนึ่งหลัง 18 ห้องเรียน ราคาก่อสร้าง 6,650,000 บาท และได้เข้าโครงการ 1 ตำบล 1 โรงเรียนในฝัน ตามโครงการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น